ควรต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อนำรถเข้าซ่อมที่อู่
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 22 ธ.ค. 59 00:00
- 25,774 อ่าน
จากกระแสข่าวที่มีเจ้าของรถยนต์ Mini คันหนึ่งนำรถเข้าซ่อมที่อู่ แล้วถูกช่างในอู่นำรถออกไปใช้ส่วนตัว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลแล้วว่า ถ้าเราเอารถไปเข้าอู่เพื่อซ่อมบ้าง จะเจอเหตุการณ์แบบนี้หรือเปล่า วันนี้เราลองมาดูวิธีเบื้องต้น ที่ควรทำเมื่อเราเอารถเข้าซ่อมที่อู่กันดีกว่าครับ
1. เก็บของใช้ส่วนตัวออกจากรถให้หมด
การเอารถไปซ่อม ก็เป็นเหมือนการเอาลูกรักของเราไปฝากอยู่กับมือคนอื่นชั่วคราว ดังนั้นเขาจะทำอะไรในรถเราบ้างนั้น เราจะไม่รู้ได้เลย เพื่อความสบายใจต่อกัน เราในฐานะเจ้าของรถและสิ่งของทั้งหมดที่อยู่ภายในรถ จึงควรเก็บของออกมาจากรถออกมาให้หมด ไม่ว่าจะเป็นของมีค่าเช่นเงิน, เศษเหรียญ แม้กระทั่งรองเท้าของคุณสุภาพสตรีก็ควรเก็บออกมา เพราะเราไม่รู้หรอกว่าช่างจะเผลอหยิบของๆเราออกไปวางข้างนอกรถเพื่อความสะดวกในการซ่อมหรือเปล่า ถ้าเกิดหายขึ้นมาจะเป็นเรื่องหมางใจกันเปล่าๆ และสิ่งสำคัญที่ห้ามทิ้งไว้ในรถเด็ดขาดคือ เอกสารสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารส่วนตัว, เอกสารประจำรถ (สมุดประจำรถ) เพราะเอกสารเหล่านี้ถ้าไปตกอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี ก็อาจจะสร้างเรื่องปวดหัวให้เราภายหลังได้ครับ
2. ขอใบรับรถทุกครั้ง
ปกติแล้วถ้าเราเอารถยนต์เข้าศูนย์บริการ จะมีการออกใบรับรถให้เราทุกครั้งอยู่แล้ว เพื่อเป็นการยืนยันว่ารถยนต์คันนั้นอยู่ในการดูแลของทางศูนย์บริการแล้ว แต่กับอู่ทั่วไปแล้ว ยังมีอยู่หลายอู่ที่ไม่ยอมออกใบรับรถให้ เพราะอ้างว่าไม่มี จริงๆแล้วใบรับรถเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะจะเป็นการยืนยันว่า ตอนนี้รถอยู่ในการดูแลของทางเจ้าของอู่ ไม่ใช่เจ้าของรถ ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุอะไรขึ้นมาเช่น ช่างนำรถออกไปลอง แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนที่รับผิดชอบต้องเป็นเจ้าของอู่ ไม่ใช่เจ้าของรถ เพราะเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเจ้าของรถท่านหนึ่งเอารถเข้าซ่อมที่อู่ แล้วไม่มีการรับใบรับรถมาด้วย ปรากฏว่าทางช่างได้นำรถไปลองแล้วเกิดอุบัติเหตุชนคนเสียชีวิต สุดท้ายแล้วเมื่อไม่มีใบรับรถเพื่อยืนยัน เจ้าของรถจึงต้องรับโทษตามกฎหมาย และต้องจ่ายค่าชดเชยกับทางครอบครัวผู้เสียชีวิต แถมต้องซ่อมรถเองอีกด้วยครับ
3. ระบุรายละเอียดลงใบรับรถ
ในใบรับรถ นอกจากจะมีการระบุว่า รถถูกเข้านำซ่อมที่อู่ไหน เมื่อไหร่แล้ว รายละเอียดอื่นๆก็ควรมี อย่างเช่น เลขไมล์ในวันที่นำรถเข้าซ่อม, จำนวนน้ำมันคงเหลือในถัง, อาการเสียที่ต้องนำเข้าซ่อม, จำนวนวันคร่าวๆที่ต้องทำการซ่อม รวมทั้งควรระบุไว้ด้วยว่า จำนวนเงินในการซ่อมที่เจ้าของรถพร้อมจ่ายโดยไม่ต้องแจ้ง และอีกจุดที่ควรระบุไว้ด้วยคือ จุดตำหนิของรถยนต์ที่เข้าซ่อม ถ้าไม่มีให้ระบุไว้ด้วยว่าไม่มี โดยเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของรถและผู้รับรถแล้วเซ็นรับทราบ เมื่อวันที่นำรถออกจากอู่แล้วเกิดมีริ้วรอยแปลกๆมา จะได้เรียกร้องกันได้ง่ายขึ้น
4. แวะไปเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว
มีหลายกรณีที่ส่งซ่อม อาจจะต้องใช้เวลาในการซ่อมนานหลายวัน ทั้งจากการรออะไหล่ หรือการซ่อมที่ต้องใช้ความละเอียด ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ว่าจ้าง เราก็ควรแวะไปเยี่ยมเยือนเพื่อติดตามผลการซ่อมบ้าง ซัก 2-3 วันครั้ง (ไปทุกวันก็ถี่ไป ทางช่างจะหงุดหงิดเราเปล่าๆ) เพื่อสอบถามว่าการซ่อมไปถึงไหนแล้ว นอกจากจะทำให้เราได้รับรู้ข้อมูล ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ใครในอู่แอบเอารถออกไปใช้ส่วนตัวได้เหมือนกันครับ
5. ซ่อมเสร็จ เซ็นรับรถ รับใบเสร็จ รับรถ
เมื่อวันที่รถซ่อมเสร็จแล้ว เราก็ควรจะนำใบรับรถเพื่อไปรับรถของเราด้วย โดยก่อนที่จะคืนใบรับรถ เราก็ควรเช็คทุกอย่างให้ครบกับที่เราได้บันทึกไว้ โดยเฉพาะเลขไมล์ที่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ควรวิ่งเกิน 100 กิโลเมตร (ถ้าเกินอาจจะต้องมีเรื่องคุยกับเจ้าของอู่หน่อย) ถ้าทุกอย่างดูปกติ ก็ชำระเงิน ขอใบเสร็จ โดยในใบเสร็จ ควรต้องระบุให้ชัดเจนว่าได้ซ่อมอะไรบ้าง และเปลี่ยนอะไรไปบ้าง เพราะใบเสร็จจะเป็นตัวยืนยันการรับประกันการซ่อมจากทางอู่ จากนั้นก็เซ็นรับรถกลับ เป็นอันจบขั้นตอนการส่งซ่อมสุดรักแล้วครับ
ขั้นตอนทั้งหมดนี้อาจจะดูยุ่งยากไปหน่อย แต่ทั้งนี้เพื่อความสบายใจจากทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าเกิดทางอู่เกิดอาการรำคาญ ไม่อยากออกใบรับรถให้ อ้างนู่นอ้างนี่ แนะนำว่าให้หาอู่แห่งใหม่เพื่อทำการซ่อมด้วยความสบายใจดีกว่าครับ
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com