ต่อภาษี 2567 ต่อทะเบียนรถ 2567 เรื่องง่ายๆที่ทำได้เอง
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 19 มี.ค. 59 10:00
- 1,356,263 อ่าน
เป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าของรถทุกคนที่มีทะเบียนขึ้นอยู่กับกรมขนส่งทางบก ที่จะต้องทำหน้าที่จ่ายภาษีการใช้รถเป็นประจำทุกปี ซึ่งถ้าท่านพี่ตำรวจเรียกตรวจ แล้วพบการขาดของทะเบียน ก็จะโดนค่าปรับ 200 บาทแน่นอน
รถส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ใช้บนท้องถนน จะเป็นลักษณะการเช่าซื้อกับสถาบันการเงินต่างๆ เมื่อใกล้ครบอายุในการต่อภาษี ทางสถาบันการเงินก็จะมีจดหมายแจ้งมาให้จ่ายเงินค่าภาษีประจำปี แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน การให้ทางสถาบันการเงินต่อทะเบียนให้ มักมีข้อขัดใจหลายอย่างเช่น
- เรียกค่าดำเนินการ 300-500 บาท
- ปัดเศษในการต่อภาษี เช่น ค่าภาษีรถ 1,790 บาท ทางสถาบันการเงินบางแห่งเรียกเก็บ 2,000 บาท ไม่รวมค่าบริการ
- ปัดเศษค่าประกัน พรบ. เช่น รถเก๋งไม่เกิน 7 ที่นั่ง 645.21 บาท แต่เรียกเก็บ 700 บาท
- ถ้ามีการค้างชำระค่างวดรถ ทางสถาบันการเงิน (บางแห่ง) ฉวยโอกาสในการเอาค่าภาษีเป็นประกัน เช่น ต่อเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องจ่ายค่างวดให้ครบก่อนถึงจะส่งใบต่อให้ หรือ เอาค่าภาษีรถ ไปโปะเป็นค่างวดก่อน เป็นต้น (อันนี้โดนกับตัวเอง เอาไปอ้างกับตำรวจ เขาก็ไม่เชื่อ)
ที่สำคัญสุด หลายคนยังเข้าใจผิดว่า หน้าที่ในการต่อทะเบียน ผู้ที่ถือสมุดคู่มือประจำรถเท่านั้น จะทำการต่อภาษี ต่อทะเบียนได้ ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากจะแนะนำวิธีการต่อทะเบียนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องง้อสถาบันการเงินครับ
1. เตรียมเอกสาร เอกสารที่ต้องใช้ เริ่มต้นหาแค่อย่างเดียวก่อนคือ ใบสำเนาเล่มประจำรถ ใบนี้ทางสถาบันการเงินจะส่งมาให้ทุกคันอยู่แล้ว เพราะจะเป็นใบที่ระบุรายละเอียดของรถ ทั้งเลขตัวถัง, เลขเครื่อง, เจ้าของรถ และผู้ครอบครองรถครับ ซึ่งใบนี้ควรต้องมีติดรถไว้ทุกคัน เผื่อไว้ให้ทางคุณพี่ตำรวจดูเวลาขอเรียกตรวจครับ เราก็เอาใบนี้ไปถ่ายเอกสารมา 1 ใบครับ
2. เอกสารตรวจรับรองติดตั้งแก๊ส กรณีที่รถเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงเป็นแบบแก๊ส (ไม่รวมแบบที่ติดตั้งจากโรงงาน) ไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ CNG จะต้องมีใบรับรองการติดตั้งและตรวจสภาพจากวิศวกรผู้ได้รับการรับรองแนบไปด้วย โดยถ้าเป็นระบบ LPG ตรวจ 1 ครั้งใช้ได้ 5 ปี แต่ถ้า CNG ต้องตรวจใหม่ทุกปีครับ เราก็เอาใบนี้ไปถ่ายเอกสารมา 1 ใบครับ
3. ตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ที่มีอายุตั้งแต่จดทะเบียนไม่เกิน 7 ปี ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลยครับ ส่วนรถยนต์ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป ต้องทำการตรวจสภาพรถยนต์ว่าพร้อมใช้งานในท้องถนนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยเราสามารถตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก็ได้ครับ จะยกเว้นก็แต่รถที่ขาดการต่อทะเบียนเกิน 1 ปี หรือมีการดัดแปลงสภาพจนไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ในสมุดคู่มือประจำรถ ต้องนำรถไปตรวจที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้นครับ เมื่อผ่านมาตรฐาน ทางผู้ตรวจก็จะออกใบรับรองมาให้ครับ
4. ทำประกัน พรบ. กฎหมายบังคับไว้ว่า รถทุกคัน จะต้องมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ถ้าไม่มีจะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่า ในเมื่อทำประกันภัยชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 อยู่แล้ว ทำไมต้องทำอีก อันนี้ก็เป็นข้อถกเถียงกันมานานแล้ว เพราะประกันชั้นต่างๆก็สามารถคุ้มครองผู้ประสบภัยได้เช่นกัน แต่ในเมื่อกฎหมายดันเขียนไว้แบบนี้ ก็ต้องทำกันต่อไปครับ โดยที่ท้ายของตัวกรมธรรม์จะมีรอบปรุให้เราฉีกได้ ให้ฉีกใบเล็กๆนั้นออกมาครับ
5. ไปจ่ายเงิน หลังจากทำทุกขั้นตอนแล้ว ให้เอาเอกสารใน 4 ขั้นตอนแรก คือ ใบสำเนาคู่มือประจำรถ, ใบรับรองการติดตั้งและตรวจสภาพแก๊ส, ใบตรวจสภาพรถ และเอกสารท้ายกรมธรรม์ของ พรบ. เมื่อก่อนการจ่ายค่าภาษีแต่ละที ต้องเสียเวลาไปครึ่งค่อนวัน แต่เดี๋ยวนี้สบายครับ เพราะกรมการขนส่งได้เปิดให้จ่ายได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ผ่านทาง Online ที่ www.dlte-serv.in.th (เฉพาะรถที่ไม่ต้องตรวจสภาพ), ที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกทุกแห่งทั่วประเทศ (มีทั้งแบบจ่ายบนอาคารตามปกติ หรือแบบเลื่อนล้อต่อภาษี), ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ห้างสรรพสินค้า (ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ http://www.dlt.go.th/th/index.php?option=com_content&id=2933:3&Itemid=88#no5 ), เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7 eleven สะดวกที่สุด), ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพฯ,จุดบริการที่มีสัญลักษณ์ PAY POINT โดยครั้งนี้ ผมเลือกใช้วิธีต่อภาษีด้วยวิธีเลื่อนล้อต่อภาษีที่กรมการขนส่ง สาขาจตุจักร ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีก็เรียบร้อยแล้วครับ (แนะนำให้ไปพุธ-ศุกร์ เพราะช่วงจันทร์และอังคาร รถจะเยอะหน่อย)
เมื่อเสร็จทุกขั้นตอน ก็จะได้ใบแสดงเพื่อแปะหน้ารถพร้อมใบเสร็จมาให้ อันนี้อยากให้ดูท้ายใบเสร็จด้วยครับ เพราะตรงนั้นจะมีการแจ้งวันหมดอายุ และจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายในครั้งต่อไปด้วย ก็จะทำให้สะดวกในการเตรียมตัวครั้งต่อไปครับ ทั้งนี้ทางกรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้เราสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน ดังนั้นเราจะไม่มีสิทธิ์อ้างกับคุณพี่ตำรวจได้เลยว่าไม่มีเวลา เพราะครั้งหนึ่งผมเคยใช้แล้ว เจอพี่ตำรวจสวนกลับมาเลยว่า “เค้าให้ต่อได้ก่อน 3 เดือน ไม่ว่างเลยหรือไง” ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่เคยปล่อยให้ทะเบียนขาดอีกเลยครับ
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com