“ผ้าเบรก” หน้าฝนนี้สำคัญ น่าจะได้เวลาเปลี่ยน!!!

  • โดย : Autodeft
  • 22 มิ.ย. 58 00:00
  • 10,161 อ่าน

ใครว่ายางสำคัญอย่างเดียวในหน้าฝนอันเฉอะแฉะ ทว่าผ้าเบรกนี่สิตัวจริงเรื่องของการหยุด...วันนี้คุณเช็คมันแล้วหรือยัง

ขับๆ เบรกๆ กิจวัตรประจำวันของการขับรถยนต์ในทุกวันนี้ แต่ในขณะที่หน้าฝนเราหลายคนมักจะได้ยินว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนยาง ยิ่งนโยบายการตลาดค่ายยางแบบเทกระจาดสามเส้นแถมหนึ่งเส้น จากศูนย์บริการชั้นนำมาดึงดูด ทำให้หลายคน อาจจะมองว่า ความสำคัญของผ้าเบรกน้อยลงไป

 

จริงที่ยางจะหมดดอก จะทำให้คุณมีโอกาสที่คุณจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า ยิ่งใครที่ชอบซิ่งหน้าฝนด้วยแล้วยางถือเป็นส่วนสำคัญในการขับขี่อย่างมาก แต่ว่า ที่ร้ายไปว่ายางรถยนต์สุดลื่นจนหลายคนมองข้ามไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นเรื่องของผ้าเบรก ซึ่งในหน้าฝน ผ้าเบรกเก่า หรือใกล้จะหมดจะลดประสิทธิภาพลง ยิ่งบ้านใครน้ำท่วมบ่อยๆ  ยิ่งมีโอกาสอย่างยิ่งที่มันจะสึกเร็วกว่าปกติมากกว่าที่คุณคิดเสียอีก

 [IMAGE1] 

สังเกตอย่างไรว่าผ้าเบรกหมด..หรือใกล้จะหมด

ก่อนที่คุณจะรีบกระโดดขึ้นรถ แล้วเหยียบคันเร่งเฟี้ยว!! ออกไปอู่ใกล้บ้าน เราควรรู้ก่อนว่าที่จริงผ้าเบรกเราหมด หรือใกล้จะหมดหรือยัง โดยคุณสามารถตรวจสอบเองก็ได้โดยที่ไม่ต้องถึงมือช่างว่า ผ้าเบรกของเรานั้น จะกลับบ้านเก่าหรือยัง

1. สังเกตสัญญาณเตือน บางครั้งไฟหน้าปัดติดแบบไม่รู้สาเหตุ โดยเฉพาะไฟ ABS ให้สันนิษฐานว่ามีโอกาสที่ผ้าเบรกของคุณใกล้จะหมด โดยไฟอาจจะติดช่วงเวลาหนึ่งแล้วดับลงไป หรือติดๆดับๆ เป็นไปได้สูงที่ผ้าเบรกจะใกล้หมด เนื่องจากระดับน้ำมันเบรกจะลดลงไปจากเดิมเล็กน้อย

2.ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรก เมื่อผ้าเบรกจะหมด โดยมากระดับน้ำมันเบรกที่เต็มอยู่ในระดับ Full ตรงกระปุกน้ำมัน ณ หม้อลมเบรกจะมีการพร่องหายไปเล็กน้อย บางคนนักรักรถทั้งหลายมักจะคิดว่า เบรกรั่วเราต้องเติมมันเข้าไปเดี๋ยวเบรกจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่ถ้ารถคุณยังใหม่ หรือไม่มีร่องรอยน้ำมันเบรกรั่วมาก่อน การพร่องหายของน้ำมันเบรกเล็กน้อยเป็นคำตอบว่า ผ้าเบรกคุณเริ่มมีการสึกไปบ้างอาจจะยังไม่อยู่ในระดับที่สุด แต่สึกไปมากพอสมควร
ทว่าถ้าน้ำมันขาดจนถึงระดับเกือบต่ำ ตรงนี้ให้ตรวจสอบ

3.ระยะเหยียบแป้นเบรกเปลี่ยนไป ถ้าเมื่อไรที่คุณขับรถแล้วเริ่มรู้สึกว่าต้องกดคันเบรกลึกกว่าเดิม แถมมันยังดูไม่อยากจะหยุด นั่นเป็นอีกสัญญาณของการเผยว่า เบรกใกล้หมดแล้ว ที่ชัดเจนที่สุด

4.มีเสียงขณะเบรก แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าคุณขับรถแล้วเบรกมีเสียงเมื่อไร บอกเลยว่า..งานเข้า!! อย่างแน่นอน เพราะเบรกคุณใกล้จะหมดของจริง โดยมากจากผู้ผลิตทุกราย เมื่อผ้าเบรกใกล้จะหมด โดยมีความหนาของผ้าเหลือราวๆ  3  มม. ในผ้าเบรกจะมีแถบเหล็กที่ขูดขอบจานเบรกเพื่อเตือนว่าถึงเวลาอันสมควรเสียแล้ว

 [IMAGE2] 

 [IMAGE3] 

เมื่อทราบแล้วว่าผ้าเบรกเราใกล้หมด ขั้นต่อไปคุณต้องรู้ก่อนจ่ายว่าจะมีค่าจ่ายอะไรบ้างในเรื่องการเปลี่ยนผ้าเบรก จะได้เตรียมหรือทราบงบประมาณเบื้องต้นกัน

1.ผ้าเบรก ส่วนสำคัญ ตัวการที่ทำให้เราต้องเสียเงินในการเปลี่ยนเบรกให้ตอบสนองในครั้งนี้ ตามปกติแล้วผ้าเบรกจะมีมากมายหลายแบบ มีหลายเกรด แต่อย่าไปปวดหัวกับมันให้มากมาย ถ้าคุณไม่ใช่พวกขับรถซิ่งจริงจัง ขนาดยมบาลเรียกพี่ ผ้าเบรกเกรดธรรมดา ทั่วไปก็ดีพอที่จะตอบโจทย์ในการใช้งานของคุณ

แต่ถ้ารู้ตัวว่าเป็นพวกบ้าความเร็วชอบซิ่ง การซื้อผ้าเบรกเกรดสมรรถนะสูงไปเปลี่ยนจะมีผลดีกว่าทำให้มีแรงเสียดทานสูงกว่า และหมายถึงคุณหยุดได้เร็วกว่าผ้าเบรกที่ติดรถมาอย่างแน่นอน ทว่าก็ต้องยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อสมรรถนะการหยุดของรถคุณ

2.ค่าเจียร์จานเบรก ...อะไรคือการเจียร์จานเบรก...หลายคนอาจจะไม่ทราบแค่รู้ว่าต้องจ่ายเพราะช่างเขาบอกมา การเจียร์จานเบรกคือการทำให้จานเบรกมีมีร่องลึกหรือความผิดปกติของผิวจากการใช้งานผ้าเบรกเดิม มีผิวสัมผัสที่เรียบและทำให้เกิดแรงเสียดทานในการเบรกดีขึ้นอีกนิดหน่อยด้วย ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ต้องเรียนตามตรงว่าถ้าคุณไม่ใช้ผ้าเบรกจน สึกกินจานมันก็ไม่จำเป็น แต่โดยมากธรรมชาติของทุกคนเราใช้งานผ้าเบรกจนกินจานกันแทบทุกคน ดังนั้นการเจียร์จานจึงเป็นเรื่องจำเป็น

3.ค่าแรง ขาดไม่ได้เมื่อกล่าวถึงการทำงานช่าง ค่าแรงงานถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานแต่ละชิ้นให้สำเร็จ ข่าวดีคือการเปลี่ยนผ้าเบรกสมัยนี้อาจจะไม่มีค่าแรง เนื่องจากมันรวมกับค่าผ้าเบรกแล้ว แต่ถ้าไม่บางครั้งคุณต้องควักจ่ายค่าแรงราวๆ 200-300 บาท โดยประมาณ

 

สำหรับหลายคนอาจจะมองเรื่องผ้าเบรก เป็นเรื่องแลดูไกลตัวมากกว่าเรื่องของยางรถยนต์ที่ดูใกล้ตัวมากกว่า แต่อย่าลืมครับว่า เมื่อถึงเวลาฝนตกถนนลื่น คุณมักจะใช้แรงเบรกเยอะกว่าปกติ ดังนั้น ถ้าปีนี้ยางรถคุณไม่เป็นอะไรแล้ว  บางทีการดูแลผ้าเบรกเป็นเรื่องที่อาจจะจำเป็นไม่แพ้กัน

 

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ