ผ่อนรถต่อไม่ไหว ... ควรทำอย่างไรดี

  • โดย : Autodeft
  • 14 ก.พ. 58 00:00
  • 197,661 อ่าน

เมื่อรถยนต์ที่คุณรัก เริ่มกลายเป็นภาระทางารเงินทำอย่างไรดีเมื่อเราต้องมีรถเพื่อความสะดวกสบาย และต้องจ่ายหนี้มันไปพร้อมกัน ..ทางออกอยู่ตรงหนี้ คุณเรียนรู้ได้

 

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

 

เมื่อไม่นานมานี้ต้องยอมรับว่า ผมเองมีโอกาสที่จะได้อ่านบทความหนึ่งที่เผยเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับซื้อรถยนต์ และมีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อ มีบทความดัง หลายคนอาจจะตระหนักคิดในความอยากมีอยากได้เมื่อต้องการมีรถยนต์ แต่ใครจะคิดว่าเมื่อเคราะห์ซ้ำกรรมซัดบางครั้งรถยนต์ก็กลายเป็นภาระที่หนึกอึ้งขึ้นมาได้ ซึ่งประเด็นคำถามที่หลายคนไม่คิดมาก่อนว่าอาจจะต้องถามออกมานั้น คือว่าเราควรจะทำอย่างไร หากเราเกิดผ่อนรถไม่ไวขึ้น

ไม่ว่าอะไรจะเป็นเหตุผลที่ผ่อนรถไม่ไหว เราเชื่อว่าคนที่คิดแบบนี่คงจะต้องหมดหนทางแล้วจริงๆในการตัดสินใจ ที่จะยอมเยสละบางอย่างในชีวิตเพื่อแลกกับความอยู่รอด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนอื่นเลย เราเชื่อว่า คงจะมีน้อยคนมากที่จะอ่านสัญญาไฟแนนซ์ที่คุณทำการเซ็นในตอนเริ่มที่ขอเข้าสู่กระบวนการผ่อนรถยนต์ ซึ่งพวกเขาคือเจ้าของรถยนต์ตัวจริง และคุณเป็นเพียงผู้ครอบครองรถ แต่สามารถใช้งานต่างๆได้ตามต้องการเพียง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พวกเขาไม่พอใจในพฤติกรรมทางการเงินของคุณ ก็มีสิทธิที่จะทวงกรรมสิทธิ์คืน และนั่นเป็นที่มาของคำว่ายึดรถ

ตามปกติแล้วและส่วนใหญ่ทุกไฟแนนซ์ จะเหมือนกันหมดไม่ว่าคุณจะใช้ธนาคารสีใดก็ตาม คือเมื่อถึงวันกำหนดจ่ายที่ระบุเอาไว้ ยังสามารถล่าช้าได้อีก 5  วัน โดยยังจะไม่เสียค่าปรับในการจ่ายค่างวดล่าช้า  และเมื่อคุณเกินวันชำระค่างวดไปแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ตามมาทันทีเมื่อมีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามค่างวด ก็หนีไม่พ้นค่าทวงถามจากทางธนาคารโดยจะมีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป

การติดค่างวดรถยนต์ตามปกติแล้วจะทำได้ไม่เกิน  3 เดือนติดต่อกัน  ซึ่งในระหว่างนี้หากคุณขาดเดือนจ่ายเดือน ลูกค้าจะถือว่าเป็นพวกจ่ายล่าช้า แต่จะไม่ถูกยึดรถ ทว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามเมื่อคุณเป็นลูกหนี้มีอาการกระจองงอแงเจ้าหนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ไฟแนนซ์จะปราบพยศคุณ

โดยเมื่อส่งท้ายปี พวกเขาจะส่งรายงานต่อสำนักงานเครดิตบูโร โดยรายงานพฤติกรรมทางเงินของคุณว่า คุณเป็นลูกหนี้ที่มีการจ่ายล่าช้า โดยจะแบ่งเป็นสองโค๊ดรหัส ระหว่างลูกหนี้ที่จ่ายล่าช้า   30  วัน และ ลูกหนี้ที่จ่ายเงินล่าช้ามากกว่า 30  วัน แต่ไม่เกิน   90  วัน ทว่าไม่ว่าอย่างไรมันก็ไม่ใช้ผลดีต่อสุขภาพทางการเงินของคุณเอง

กรณีที่ล่าช้าเดือนสองเดือน เรื่องการยึดรถจะยังไม่เกิดขึ้น คุณยังสามารถวางใจได้ แต่ก็อาจจะรำคาญและเกิดความยุ่งยากในชีวิตหน่อยเมื่อพวกคอลเซ็นเตอร์ทวงหนี้จะตามจิกกัดคุณตลอดเวลา บ้างใช้คำพูดสุภาพบ้างพูดจาสุนัขไม่รับประทาน ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะดวงซวยเจอพวกนั่งโต๊ะวันๆ ทอล์คโชว์ใส่ไมค์เพื่อนำเงินเข้าบริษัทแบบไหน

แต่สถานการณ์ของคุณจะเปลี่ยนไปเมื่อคุณไม่จ่ายค่างวดเลยเกิน   90   วัน เรื่องราวจะกลับตาลปัตรในการทวงถามเงินลายเป็นการทวงถามรถยนต์  หรือคุณกำลังเสี่ยงโดนยึดรถ นั่นแหละ

กระบวนการยึดรถนั้น เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นทันทีที่คุณจ่ายเงินค่างวดรถยนต์ของคุณล่าช้าเกินกว่า 3  เดือน โดยมากธนาคารจะใช้บริการบุคคลภายนอกหรือบริษัทรับทวงหนี้ที่เป็นคู่สัญญาของพวกเขาในการติดตามเงินค่างวดหรือไม่ ก็รถของคุณ มาใช้คืนธนาคาร

ซึ่งโดยมากเมื่อเริ่มกระบวนการดังกล่าวจะมีค่าติดตาม ซึ่งจะมีมูลค่าหลายพันบาท เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ ซึ่ง คุรจะต้องเป็นคนจ่ายเพิ่มเติม นอกจากค่างวดที่คุณติดไว้ และงานติดตามจะจบหมดสิ้นเมื่อคุณจ่ายเงินต่ำกว่าสามงวด และจ่ายค่าเหนื่อยของพวกทวงหนี้เหล่านี้แล้ว แต่จากประสบการณ์ทางที่ดีคุณควรจะทำให้ยอดไม่เหลือคงค้างจะดีที่สุด เนื่องจากบางทีในระหว่างกระบวนการดำเนินการ อาจจะเกิดค่างวดใหม่ของเดือนต่อไปโผล่เข้ามา ทำให้สร้างความสับสนในการชำระเงิน จะเป็นบ่วงผูกตัวในท้ายที่สุด จนยากจะแก้ไข

ภาพการดำเนินการประมูลรถยนต์ จาก แฟนเพจ สหการประมูล

ในกรณีที่คุณปล่อยรถให้โดยยึดไป ตามปกติแล้วไม่ใช้ว่าคุณไม่มีโอกาสที่จะนำมันกลับมา โดยมากรถยนต์ของคุณจะถูกนำไปไว้ที่ลานพักรถยึด หรือที่ใดๆก็ตามที่ทางบริษัท นำรถยนต์ที่โดนยึดมารวมกันไว้ ก่อนที่มันจะถูกออกนำขายทอดตลาด โดยวิธีการประมูลผ่านทางบริษัทประมูลทั้งหลาย เพื่อให้ผู้ที่สนใจประมูลนำไปใช้ หรือไปซื้อขายเป็นรถยนต์มือสองต่อไป

ปกติแล้วรถยนต์ของคุณเมื่อถูกยึดมาได้จะมีระยะเวลาไถ่ถอนคืน โดยระหว่างนี้จะยังมีเวลาในการรวบรวมเงิน ที่คุณค้างชำระไปไถ่ถอนรถอออกมา แต่หากจำได้ตั้งแต่ที่คุณช้างวดแรกจนถึงคุณยึดรถ จะมีรายงานพฤติกรรมการชำระหนี้ของคุณไปสู่เครดิตบูโร เมื่อโดนยึดรถก็มีรหัสแบบเดียวกันไปสู่สถานะของคุณในบัญชีเครดิต ซึ่งบริษัทและสถาบันทางการเงินทั้งหมดสามารถเปิดตรวจสอบ และมีโอกาสสูงที่คุณจะถูกมองเป็นพวกติดบัญชีดำ ซึ่งพกเขาไม่สามารถอนุมัติบัตรเครดิต หรือให้ทำการกู้ใดๆได้ แต่หากคุณผ่านระยะเวลาสามปีในการทำธุรกรรมแย่ๆ ก็จะมีประวัติใสสะอาด

เรื่องนั้นยังจิ๊บจ้อยหากคุณไม่ขอไถ่ถอนรถยนต์และ รถคันดังกล่าวถูกขายทอดตลาด โดยปกติแล้วเมื่อรถถูกขายไปไม่ใช่ว่าหนี้คุณหมดไป เพราะเมื่อเรื่องทั้งหมดจบลง บริษัทก็มักจะยืนฟ้องคุณต่อศาลแพ่งให้ชำระเงินเพิ่มเติมจากส่วนต่างที่ไฟแนนซ์ได้คืนมาจากตลาดประมูลรถ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันก็จะมาพร้อมกับการยืนฟ้องขอร้องค่าเสียโอกาส ค่าทวงถาม ไปจนถึงบางธนาคาร อาจจะยังมีค่าดำเนินการนำรถเข้าประมูล และแน่นอนค่าศาล ซึ่งคนจำนวนมากมักคิดว่า การประมูลรถยนต์จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ แต่มันไม่ใช่เลยในความเป็นจริง อาจจะมีบ้างที่รถยนต์บางรุ่นเกิดได้ราคาประมูลสูง ทว่าก็น้อยมากในความเป็นจริง

อย่างไรก็ดีหากคุณคิดว่ายังไงเสียก็ผ่อนไม่ไหวต่อไป จงจำไว้ว่าอย่าท้อแท้ทุกปัญหามีทางออกของมันเสมอ เพื่อให้คุณผ่านมันไปได้

1.เจรจา หลายคนคิดว่าธนาคารมีสิทธิเหนือเราเสมอ แต่ความจริงแล้วเราสามารถที่จะเจรจาในการผ่อนผันค่างวดรถได้ แม้รถคุณจะถูกติดตาม โดยมากผู้ทวงถามจะสอบถามความพร้อมของคุณในการชำระค่างวด พวกเขามักจะคิดว่าลูกหนี้ต้องพร้อมจ่ายเงินเสมอ ซึ่งนั่นมันหน้าที่ของพวกเขา เขาจะบีบคุณทุกวิธีทาง แต่ให้คุณคุยเจรจาและนัดการชำระ ซึ่งโดยมากยังพอทำได้แม้กระบวนการยึดรถจะเริ่มไปแล้วก็ตามที โดยให้คุณส่งค่ารถเข้าไปก่อนตามปกติ และพยายามทยอยงวดที่ค้าง แม้พวกนักทวงหนี้จะพยายามและไม่ชอบให้คุณทำแบบนั้นก็ตาม เพราะพวกเขาต้องการผลงานในการทำงาน 

โดยในการเจรจาบางครั้ง คุณสามารถขอคุยกับธนาคารหรือสถาบันการเงินบางแห่งในการขอปรับโครงสร้างหนี้ ได้ในบางกรณี เช่น ขอยืดเวลาผ่อนเพื่อลดค่างวดลงไปอีก และลดค่าผ่อน แต่ระยะเวลาอาจจะยาวขึ้นและดอกเบี้ยจะแพงขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน

2.รู้จักสถานะการเงินของตัวเอง เมื่อมาถึงนะจุดที่คุณกำลังย่ำแย่ สิ่งสำคัญคงไม่พ้นการทราบสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง ว่าหากคุณสามารถแก้ไขปัญหาเลี่ยงการไม่ให้ได้โดนยึดรถได้ คุณจะรอดต่อไปหรือไม่  ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางทีคุณอาจจะพ้นปัญหานี้ไปได้ แต่ก็จะยังไม่สามารถแก้ไขได้อนาคต และถ้าแก้ไม่ได้ก็ควรจะได้เวลาตัดสินใจ ในการปล่อยรถที่รักไป หรือจะสู้สุดใจเพื่อมัน ตรงนี้ต้องรู้จักประมาณตนครับ

3.ชำระสักงวดก่อนจะสายไป หลายคนเมื่อชำระค่างวดรถไม่ได้ มักจะปล่อยดินพอกหางหมูจนสามเดือนเข้าสู่กระบวนการยึดรถ ในแง่หนึ่งเรื่องนี้สามารถที่จะเลี่ยงโดยชำระไปบางส่วนโดยให้ครอบคลุม 1  งวด หรือมากกว่านั้น แต่ให้ดีปิดไม่มีค้างส่งจะดีที่สุด

4.ขายรถ แม้ว่าหลายคนอาจจะรักรถมากๆ แต่ท้ายที่สุดทางออกที่ดีของเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นที่คุณจะรีบปลดภาระของตัวคุณเองก่อนที่อะไรๆ มันจะสายไป การขายรถยนต์เป็นทางออกที่ดีมากในการที่คุณจะลดภาระของตัวเอง และอย่างน้อยที่สุดไม่เสียประวัติทางการเงิน

การขายรถยนต์ในยามลำบากแบบนี้ ตามปกติแล้วจะมีสองวิธีการอย่างแรกคือการประกาศขายรถธรรมดาทั่วไป ซึ่งคุณอาจจะต้องตั้งราคาสูงเพื่อให้ครอบคลุมกับค่างวดที่เหลือ ยิ่งคุณดาวน์น้อยและผ่อนนาน ก็มีโอกาสที่คุณจะขาดทุนในการขาย

แต่ในขั้นตอนการขายนั้นยังมีอีกวิธีที่เราเรียกว่า “ขายดาวน์” ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากในการส่งต่อรถของคุณไปสู่คนที่ต้องการ โดยการประกาศขายดาวน์ เป็นการหาผู้ซื้อที่ต้องการรถยนต์รุ่นที่คุณขับ โดยที่เขามีหน้าที่มาผ่อนต่อจากคุณ และจ่ายเงินดาวน์กับคุณ ซึ่งทำให้คุณมีเงินติดตัวบ้าง

ทว่าการขายดาวน์อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ด้วยการที่คุณต้องไปขอเปลี่ยนสัญญากับทางไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันจะมีขั้นตอนมากมายที่จะตรวจสอบผู้ที่จะมารับช่วงจากคุณ และบางครั้งอาจจะพบปัญหาว่า ผู้ซื้อใหม่คุณสมบัติไม่ผ่านไม่สามารถเปลี่ยนสัญญาได้ทำให้คุณอาจจะเสียเวลาบ้างพอสมควร  แต่ท้ายที่สุดปัญหาจะทุเลาไปได้

ไม่ว่าอย่างไรเสีย คุณคงจะเห็นชัดว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณปล่อยให้รถโดนยึดไปแล้ว ปัญหาต่างๆจะตามมาอีกมากมาย ดังนั้นทางที่ดีที่สุด อย่าปล่อยให้รถคุณโดนยึด และหาวิธีทางแก้ที่ดีที่สุด หากคุณผ่อนรถต่อไม่ไหว เพื่อไม่ให้ประวัติทางการเงินของคุณต้องมัวหมอง

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าว ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)           

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

 

5 เรื่องน่าสนใจ